ปราสาทพระวิหาร วิมานแห่งองค์พระศิวระ
ถ้าพูดถึงปราสาทพระวิหาร เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักกันอย่างแน่นอน เพราะเป็นถึงหนึ่งในมรดกโลกเลย ซึ่งในบทความนี้จะพาไปท่องอาณาจักรโบราณกับเรื่องราวของปราสาทบนเทือกเขาสูง วิมานบนสรวงสวรรค์สถานที่สถิตของพระศิวระมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งนั่นก็คือปราสาท พระวิหาร เรื่องราวของปราสาท พระวิหารจะมีที่มาที่ไปยังไง มีความลับอะไรซ่อนอยู่ในปราสาทแห่งนี้สามารถติดตามได้ในบทความนี้กันได้เลย
เว็บอัพเดทข่าวสารที่เกี่ยวกับโชคลาภที่ดีที่สุดสำหรับคุณ นงน้อย.com
การค้นพบปราสาทพระวิหาร
เมื่อปี พ.ศ. 2442 บนผาสูงชันของเทือกเขาพนมดงรักสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอดีตกาลและเป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ภายใต้ป่าอันแสนลึกลับนี้ได้ซุกซ่อนบางสิ่งไว้ ซึ่งในระหว่างที่คณะสำรวจนำโดย พลตรีพระองค์เจ้าชุมพลสมโภชกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ หรือพระองค์เจ้าชุมพลไปบุกป่าฝ่าดงจากเมืองศรีสะเกษเข้าไปสำรวจป่าดงดิบ ในเขตชายแดนประเทศกัมพูชาพระองค์เจ้าชุมพลได้ส่องกล้องไปยังยอดเขาพนมดงรัก ซึ่งอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลราว 657 เมตร ท่านสังเกตเห็นบางสิ่งบนยอดเขาแห่งนั้น คณะสำรวจของท่านจึงบุกป่าฝ่าดงไปยังเชิงเขาและได้พบกับบันไดศิลาแลงยิ่งใหญ่อลังการ ทอดตัวเรียงรายขึ้นไปบนยอดเขา เมื่อเดินตามบันไดขึ้นไปถึงบนสุดของเทือกเขาพนมดงรักแห่งนี้ ก็คือปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏบนแผ่นดินสยาม และอยู่บนที่สูงมากกว่าปราสาทอื่นในสยาม และปราสาทแห่งนี้ก็คือปราสาท พระวิหารนั่นเอง
องค์ประกอบของปราสาทพระวิหาร
เป็นปราสาทที่สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง ที่สกัดจากบริเวณเทือกเขาพนมดงรักมีความยาวตั้งแต่บันไดขั้นแรก จนถึงจุดสูงสุดยาวมากถึง 800 เมตรรายล้อมด้วยเทวาลัย แล้วก็ปราสาทหินจำนวนมากทั่วบริเวณ มีโคปุระซึ่งหมายถึงซุ้มประตูขนาดใหญ่อยู่ 5 ชั้น ก่อนจะถึงโคปุระแต่ละชั้นก็จะต้องเดินผ่านบันไดขนาดใหญ่หลายสิบขั้น โดยที่โคปุระแต่ละชั้นถูกออกแบบให้เปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วงค่อยปิดบังไม่ให้ผู้คนที่เดินขึ้นไปได้เห็นส่วนต่างๆของปราสาทได้เลย จนกว่าจะผ่านโคปุระแต่ละช่วงไปแล้วเท่านั้น โดยก่อนจะถึงโคปุระชั้นที่ 5 ซึ่งก็คือชั้นนอกสุดจะต้องเดินผ่านบันไดดินขนาดใหญ่ด้านหน้าที่ความกว้าง 8 เมตรและยาวมากถึง 75.50 เมตร จำนวน 162 ขั้น มีรูปสิงห์ทวารบาลเฝ้าดูแลอยู่ตลอดสองข้างทาง และเมื่อผ่านไปแล้วก็จะพบกับสะพานนาคราช หรือลานนาคราชปูพื้นด้วยแผ่นหินเรียบขนาดความกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตรโดยที่สองข้างจะมีนาคราช 7 เศียรจำนวน 2 ตัวหันหน้าไปทางทิศเหนือ แตกต่างจากปราสาทอื่นๆที่มักจะมีพญานาค 5 เศียรโดยนาคราชของปราสาท พระวิหาร จะมีลักษณะคล้ายกับงูตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอมแบบปาปวน เมื่อเดินผ่านโคปุระชั้นที่ 5 ก็จะมองเห็นโคปุระชั้นที่ 4 ได้ไกลๆ โดยจะมีสระสรงอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ระหว่างทางเดินเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดความกว้าง 16 เมตรยาว 37 เมตร เป็นไปได้ว่ากษัตริย์ผู้ปกครองทุกพระองค์ อาจจะใช้น้ำจากสระนี้เพื่อชำระล้างพระวรกายเป็นเวลานานนับพันปีแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคเพียงแหล่งเดียวบนปราสาทแห่งนี้ ตรงโคปุระชั้นที่ 4 นี้จะมีภาพของการกวนเกษียรสมุทร ณ เขาพระวิหารและมีทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อยู่เหนืออนันตนาคราช เมื่อผ่านลึกเข้าไปอีกก็จะพบกับโคปุระชั้นที่ 3 เป็นโคปุระหลังใหญ่ที่ยังคงสมบูรณ์ที่สุด ต่อด้วยโคปุระชั้นที่ 2 ซึ่งในชั้นนี้จะมีรอยสกัดลงบนพื้นศิลาลักษณะเป็นหลุมกลมจำนวนมาก จึงน่าจะมีไว้สำหรับประกอบพิธีอะไรบางอย่าง กรอบประตูห้องจะมีจารึกอักษรขอมโบราณระบุปีศักราชเอาไว้ ตรงกับยุคสมัยของพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1545 จนถึงปี พ.ศ. 1593 เมื่อเดินตรงลึกเข้าไปจนผ่านโคปุระชั้นที่ 1 บันไดหินชั้นนี้จะมีลักษณะค่อนข้างชัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าการที่จะเข้าเฝ้าเทพเจ้านั้น จะต้องไปด้วยอาการที่เคารพนอบน้อมในลักษณะของการหมอบคลานเข้าไป เมื่อผ่านเข้าไปแล้วก็จะไปพบกับหัวใจสำคัญของปราสาท พระวิหาร นั้นก็คือปราสาทประธาน ตั้งตรงกลางลานชั้นในสุดมีทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ปัจจุบันนี้ได้พังทลายลงเกือบหมดแล้ว จึงไม่อาจทราบรูปทรงที่แน่นอนได้ ภายหลังการค้นพบ พระองค์เจ้าชุมพลได้จารึกปีที่พบและพระนามของท่านเอาไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยยตาดี ซึ่งคือจุดที่ลึกที่สุดโดยจะอยู่หลังตัวปราสาท โดยข้อความว่า 118 สรรพสิทธิ ซึ่ง 118 ก็คือ รัตนโกสินทร์ศกที่ 118 หรือปี พ.ศ. 2442 เป็นบันทึกบรรทัดแรกแห่งการค้นพบ หลังจากที่ถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลาหลายร้อยปีนั่นเอง
ความเชื่อเกี่ยวกับปราสาทหระวิหาร
ในสมัยจักรวรรดิเขมรหรือจักรวรรดิอังกอร์เรืองอำนาจ ป่าเขาพนมดงรักคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตของเทพเจ้าเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีปราสาท พระวิหารตั้งอยู่ตรงปลายสุดของหน้าผาเปรียบเสมือนมงกุฎแห่งเทพเจ้า ปราสาท พระวิหารแห่งนี้ถูกสร้างในรัชสมัยของกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมหลายพระองค์ ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 300 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ สันนิษฐานว่าเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งปกครองอาณาจักรในช่วงปี พ.ศ. 1345 จนถึงปี พ.ศ. 1388 โดยเริ่มจากการกำหนดและก็เรียกเขตบริเวณปราสาทว่า ภวาลัย ซึ่งภายหลังปรากฏชื่อในจารึกภาษาสันสกฤตว่า ศรีศิขรีศวร หมายความว่าผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาอันประเสริฐ จากนั้นก็ได้มีการต่อเติมแล้วก็สร้างส่วนต่างๆของปราสาทเรื่อยมา จนในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1545 ถึง 1593 ก็ได้มีการสถาปนาให้เขาพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานของรูปเคารพที่เรียกกันว่า ศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวระ
หรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุดเขาพระวิหาร จึงกลายเป็นที่สักการะของคนหลากหลายกลุ่ม หลอมร่วมความศรัทธาของคนพื้นเมือง ซึ่งมีทั้งจาม ขอม ส่วย ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในความเชื่อเดียวกันเป็นศูนย์กลางความเชื่อ และศูนย์รวมพิธีกรรมแสวงบุญของปราสาทขอมโบราณ และกลุ่มคนพื้นเมืองบริเวณเขาพระวิหารนั่นเอง
เขาพระวิหารมรดกโลก
เขาพระวิหารเคยอยู่ในความดูแลของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2483 แม้ว่าทางขึ้นเทวาลัยของปราสาทแห่งนี้ จะถูกออกแบบและก่อสร้างให้หันหน้าไปทางทิศเหนือในเขตของประเทศไทย ซึ่งผิดแปลกไปจากปราสาทอื่นๆที่ส่วนมากจะสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อรับพลังจากสุริยะเทพ แต่ทว่าตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ปราสาทพระวิหารได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศกัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลโลกและยังคงเป็นของกัมพูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2450 จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองเขมร ขณะนั้นอาศัยแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าบีบบังคับให้รัฐบาลสยามทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส และยอมเขียนแผนที่กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ถึงแม้ไทยจะได้ปราสาทพระวิหารกลับคืนมาอีกครั้งใน ปี พ.ศ. 2484ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามสนธิสัญญา โตกิโอ แต่ในปี พ.ศ. 2492 กัมพูชาและฝรั่งเศสร่วมกันคัดค้านอำนาจอธิปไตย เหนือปราสาท พระวิหารของไทยกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง ถึงขั้นที่กัมพูชาตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยและก็มีการต่อสู้คดีกันเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศาลโลกได้ตัดสินยืนความตามคำพิพากษาในปี พ.ศ. 2505 ตามที่กัมพูชาได้ร้องขอ ทำให้ตัวปราสาทยังคงอยู่ในความดูแลของประเทศกัมพูชา จนปัจจุบันก็ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดโลกขององค์การยูเนสโก้แล้วนั่นเอง
สรุป
ปราสาท พระวิหารวิมานของพระศิวระ เป็นปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นมากว่าหลายร้อยปี เป็นปราสาทที่อยู่บนยอดเขาสูงในพื้นป่าพนมดงรักซึ่งมีความเชื่อของคนกัมพูชาหรือขอมโบราณ เชื่อว่าปราสาทหินแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวระและเหล่าเทวดาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดโลกขององค์การยูเนสโก้ และเป็นสถานที่ที่มีความสวยงามและศักดิ์สิทธิ์อย่างมากตามความเชื่อของชาวไทยและชาวกัมพูชานั่นเอง
ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสายมู ความเชื่อ และโชคลาภอีกมากมาย ท่านสามารถติดตามที่จากเว็บนี้