ปฐมบทคนเลี้ยงช้าง เปิดตำนานพระมอเฒ่า
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความผูกพันกับช้ามาตั้งโบราณ คนที่จะสามารถควบคุมช้างได้จึงจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี อย่างที่เราได้เห็นกันไม่ว่าจะคนเลี้ยง ครวญช้าง หมอช้าง และอีกหนึ่งตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งสูงสูดของหมอช้างทั้งหลายนั้นก็คือ “พระมอเฒ่า” แต่ทำไมหมอช้างในปัจจุบันถึงไม่มีตำแหน่งนี้แล้ว หาคำตอบได้ในบทความนี้กันเลยค่ะ
เว็บอัพเดพข่าวสาร เกี่ยวกับเรื่องโชคลาภ
พระมอเฒ่า
พระมอเฒ่า คือตำแหน่งสูงสุดของหมอช้าง เป็นผู้ที่เก่งและมีความสามารถในการคล้องช้าง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นของชาวส่วยหรือชาวกูยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ เป็นตำแหน่งที่หมอช้าง ครวญช้างทุกคนเชื่อฟังและให้เกียรติ อีกทั้งยังมีตำนานของพระมอเฒ่า ซึ่งเป็นตำนานที่เล่าต่อกันมารุ่นสู่ของเหล่าคนเลี้ยงช้าง ตำนานพระมอเฒ่าเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากคำบอกของ นายเถา แสนดี เป็นพระมอเฒ่าประจำหมู่บ้านตากลาง ต.กระโพ จ.สุรินทร์
ตำนานพระมอเฒ่า
ตำนานเล่าว่า พระมอเฒ่า คนสุดท้ายของชาวส่วยหรือชาวกูย มีความสามารถในการจับช้างป่าตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ ภายหลังได้แต่งงานจนมีลูกชื่อว่า “ก่อง” หรือ “อาก่อง” ในภาษาส่วย พระมอเฒ่าและภรรยารักลูกคนนี้มาก แต่ทุกคนหารู้ไม่ว่าก่องในอดีตชาตินั้นเคยเป็นลูกช้างป่า และเคยถูกพระมอเฒ่าคล้องมาได้ เมื่อถูกฝึกอย่างหนัก ก็ทนต่อสภาพแวดล้อมไม่ได้จึงตรอมใจตาย แล้วได้มาเกิดเป็นลูกชายของพระมอเฒ่าในชาตินี้ ก่องสามารถจดจําชาติก่อนของตนได้ทุกอย่าง จึงคิดถึงแม่ช้างป่าอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้เกิดเป็นคนยิ่งได้เกิดมาเป็นลูกของพระมอเฒ่าแล้ว ก็จะพยายามหาโอกาสไปพบกับแม่ช้างให้ได้ เมื่ออาก่องเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มก็ได้รับตําแหน่ง “กํารวงปืด” (ครูบาใหญ่) ตามประเพณีที่มีพ่อเป็น พระมอเฒ่า เนื่องจากประเพณีกําหนดไว้ว่า เมื่อผู้มีตําแหน่งสูงสุดในบรรดาหมอช้าง หากได้ลูกคนแรกเป็นผู้ชาย ให้หมอช้างทั้งหลายนําเอาเปลือกต้นกระโดนมารองรับตัวเด็กให้นอน และมอบตําแหน่งกํารวงปีดให้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใดๆ แต่หากลูกคนแรกเป็นผู้หญิงจะไม่ได้สิทธิ์ตามประเพณีนี้ พระมอเฒ่าอยากให้กองเป็นผู้ที่เก่ง มีความสามารถเหนือผู้คนในหมู่บ้านจึงคิดที่จะถ่ายทอดวิชาทุกอย่างให้กับลูกชาย อยู่มาวันหนึ่งพระมอเฒ่าได้แอบพาก่องและเมียเข้าไปในป่า เพื่อให้ก่องได้เรียนรู้การคล้องช้างป่า ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดธรรมเนียม เพราะการออกไปคล้องช้างห้ามนําภรรยาไปด้วย อีกทั้งห้ามให้ลูกนั่งบนช้างเชือกเดียวกันกับพ่อด้วย แต่พระมอเฒ่ากลับละเลยธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ด้วยความคิดที่ว่าตนเองเป็นผู้มีตําแหน่งสูงสุด มีความสามารถที่จะดูแลภรรยาและลูกได้
และไม่อยากให้ลูกต้องลําบากในการหุงหาอาหาร เมื่อออกไปคล้องช้างในระหว่างของป่าลึก ก่องได้บอกกับว่าพ่อคล้องเอาช้างที่เป็นแม่ช้างแล้วลูกช้างก็จะต้องติดตามแม่ช้างมาด้วย แต่พ่อก็ได้บอกว่า ตามธรรมเนียมจะไม่คล้องเอาแม่ช้าง จะคล้องเอาเฉพาะลูกช้าง เพราะต้องให้แม่ช้างอาศัยอยู่ในป่าเพื่อผลิตลูกช้างให้อีกต่อๆไป เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณดงช้าง พระมอเฒ่าให้ภรรยานำสัมภาระต่างๆที่พักใกล้ต้นหว้าใหญ่ โดยให้ภรรยาอยู่ตามลําพังเพื่อให้ภรรยาคอยหุงหาอาหารไว้ให้ตนกับลูกชาย พระมอเฒ่าก็เริ่มทําพิธีเปิดป่า จัดหนังปะกํามาวางบนหลังช้าง ไม้คันจามและอุปกรณ์อื่นๆที่จําเป็น โดยให้ก่องเป็น “มะ” นั่งท้ายบนช้างต่อ จากนั้นก็ขี่ช้างเข้าสู่ป่าทึบที่ช้างอาศัยอยู่ พระมอเฒ่าก็มองเห็นโขลงช้างใหญ่ พระมอเฒ่าจึงค่อยๆขี่ช้างเข้าใกล้โขลงช้าง ในช้างโขลงนั้นมีแม่ช้างของก่อง พร้อมน้อง ๆ และเพื่อนๆ เมื่อก่องเห็นดังนั้น ก็เรียกบอกพ่อให้คล้องเอาแม่ช้าง แต่พระมอเฒ่าไม่สนใจ ก่องที่ได้เห็นพ่อไล่กวดลูกช้าง ได้เห็นภาพที่แม่ช้างวิ่งหนีหอบเพื่อที่จะปกป้องลูก จึงตัดสินใจกระโดดขี่หลังแม่ช้างไป แม่ช้างตกใจกลัวสุดมาก จึงรีบวิ่งเข้าไปลึกในป่า ทําให้ห่างออกไกลจากพ่อเรื่อย ๆ พระมอเฒ่าที่ได้เห็นก่องกระโดดขี่หลังแม่ช้างไปก็ตกใจ และได้ร้องเรียกหาลูกของตนโดยไม่สนใจฝูงลูกช้างอีกต่อไป แต่กลับให้ช้างวิ่งตามแม่ช้างเพื่อตามหาก่อง แต่ในที่สุดแม่ช้างที่ก่องขี่หลังก็หายลับไป พร้อมกับความมืดที่เริ่มปกคลุมป่า พระมอเฒ่าเศร้าเสียใจมาก ทำได้แค่พยายามค้นหาลูกชายท่ามกลางความมืด แต่ก็ไม่มีวี่แววและเสียงตอบกลับ พระมอเฒ่าจึงตัดสินใจกลับไปหาภรรยาที่รออยู่ที่พักพร้อมช้างคู่ใจ ระหว่างทางก็ได้แต่เศร้าเสียใจ
เมื่อมาถึงที่พักก็ไม่เห็นภรรยานอนอยู่ จึงเดินเรียกหาภรรยาไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่พบ ด้วยความเหนื่อยล้า พระมอเฒ่าจึงตัดสินใจว่า จะออกตามหาภรรยาในตอนรุ่งเช้าแทน
รุ่งเช้าพระมอเฒ่าจึงเดินตามหาภรรยาตนเองอีกครั้ง แต่กลับพบเจอเลือดและเศษเนื้อชิ้นน้อยกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ทำให้พระมอเฒ่าเกิดความกังวลใจจึงเดินตามหาไปทั่ว และก็ได้มาพบแขนข้างหนึ่งของภรรยาอยู่บนพื้น จึงได้รู้ว่าเสือได้กินภรรยาของตนไปแล้ว พระมอเฒ่าทั้งตกใจและเสียใจเป็นเท่าทวีคูณ ได้แต่ร้องไห้จวนจะขาดใจตายตามลูกและภรรยาไป ด้วยความเสียใจพระมอเฒ่าทำได้แค่นําแขนข้างหนึ่งของภรรยาขึ้นหลังช้าง เพื่อให้ช้างพากลับบ้าน เมื่อมาถึงหมู่บ้านชาวบ้านก็ได้เข้ามาถามว่าภรรยาและก่องหายไปไหน เหมือนยิ่งไปตอกย้ำความเสียใจให้กับพระมอเฒ่ามากยิ่งขึ้น พระมอเฒ่าได้แต่บอกว่า ตนเองไม่เหลืออะไรอีกแล้ว หากจะเหลือก็เหลือเพียงแค่แขนภรรยาเท่านั้น พระมอเฒ่าได้ฝากส่วนแขนของภรรยาให้เพื่อนบ้านจัดการแล้วแต่ความเหมาะสมให้แทน และได้กล่าวบอกทุกคนว่า คนที่จะไปคล้องช้างหรือทําอะไรเกี่ยวกับช้างให้ขออนุญาติก่องทุกครั้ง เพราะก่องถือว่าเป็นเจ้าของช้างในป่าทั้งหมดไปแล้ว จากนั้นไม่นานก่อนพระมอเฒ่าสิ้นใจ พระครูปะกํา (ตําแหน่งรองจากพระมอเฒ่า) ได้จับหนังปะกําไว้เพื่อเป็นการรับมอบพิธีการคล้องช้างต่อจากพระมอเฒ่า และได้ให้สัญญาว่าจะรักษาประเพณีการคล้องช้างไว้มิให้สูญหายชั่วลูกชั่วหลาน จะรักษาอย่างเคร่งครัด แต่พระครูปะกําไม่ขอรับตําแหน่งเทียบเท่าพระมอเฒ่า จะขอรับเพียงตําแหน่งพระครูปะกําเท่านั้น ตำแหน่งพระมอเฒ่าจึงไม่มีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มีเพียงตําแหน่งกํารวงปีดเท่านั้น ต่อมาก็มีการประชุมหารือและตกลงกันในบรรดาหมอช้างว่า จะเอาแขนนาง(แขนภรรยาพระมอเฒ่า)ไว้ในบ่วงบาศก์ ทุกครั้งที่ทําหนังปะกํา จึงให้เรียกบ่วงบาศก์ว่า “แขนนาง” และเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับช้างทุกครั้งจะต้องเรียกหา “ก่อง” มาจนถึงปัจจุบัน
สรุป
ปฐมบทคนเลี้ยงช้าง เปิดตำนานพระมอเฒ่า เป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาของชาวกูยที่เลี้ยงช้าง ในจังหวัดสุรินทร์ พระมอเฒ่าคนสุดท้ายเป็นคนที่เก่งและมีความสามารถแต่ด้วยความที่ท่านละเลยต่อธรรมเนียมปฏิบัติจึงทำให้ท่านต้องเสียลูและภรรยาไปจึงตรอมใจตาย ด้วยเหตุนี้ทำให้หมอช้างที่จะมารับช่วงต่อเป็นพระมอเฒ่าจากท่าน รู้สึกเห็นใจและด้วยความที่เคารพพระมอเฒ่าจึงไม่ขอรับตำแหน่งนี้ต่อ จึงทำให้ตั้งแต่นั้นมาไม่มีตำแหน่ง พระมอเฒ่า อีกต่อไป
ก่อนจากกันวันนี้ ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยว โชคลาภ ให้ท่านได้อ่าน