ตำนานพระนางสามผิว ผิวเปลี่ยนสีได้ งามเลื่องลือจนเสียเมือง
หากใครที่ได้ไปเที่ยวเชียงใหม่และมีโอกาสได้ไปไหว้พระ ทำบุญที่วัดพระบาทอุดม คงได้มีโอกาสเห็นอนุสาวรีย์ พระเจ้าฝางอุดมสิน – พระนางสามผิว อยู่บริเวณสวนสุขภาพซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระบาทอุดม อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต อีกทั้งยังมีตำนานความงดงามของพระนางผิวสามสีที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ และการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าฝางและพระนางผิวสามสี ตำนานนี้จะมีเรื่องราวอย่างไร ตามไปอ่านกันได้ในบทความนี้กันเลยค่ะ
เว็บอัพเดทข่าวสารที่เกี่ยวกับโชคลาภที่ดีที่สุดสำหรับคุณ นงน้อย.com
อนุสาวรีย์ พระเจ้าฝางอุดมสิน – พระนางสามผิว
ลานอนุสาวรีย์ พระเจ้าฝางอุดมสิน – พระนาง สามผิว (บ่อน้ำซาววา) ตั้งอยู่ที่หน้าวัดพระบาทอุดม ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณลานยังมีศาลาพระเจ้าฝางฯ ศาลาพระสังกัจจาย ศาลาพระศิขีพระประจำเมืองฝาง ร้านสหกรณ์และมีวัตถุมงคลให้บูชา
ตำนานพระนางสามผิว
ตำนานกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2155 – 2175 เจ้าเมืองฝาง (หรือเชียงใหม่ในปัจจุบัน) นามว่า
พระเจ้าอุดมสิน พระองค์มีพระมเหสีนามว่า “พระนางผิวสามสี” เนื่องจากพระนางมีสีผิวที่สามารถเปลี่ยนไปถึงวันละ 3 สี นั้นก็คือ เมื่อถึงยามเช้าผิวของพระนางจะเป็นสีขาวผุดผ่องดั่งปุยเมฆ พอถึงเที่ยงวันผิวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนราวกลีบกุหลาบ ถึงยามเย็นผิวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ อีกทั้งพระนางยังเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงามหาใครเปรียบไม่ได้ ด้วยความงดงามและสีผิวที่มีเสน่ห์ ทำให้มีข่าวลือแพร่ออกไปทั่วสารทิศว่าเจ้าเมืองฝางนั้นมีมเหสีที่งดงามยิ่งนัก ข่าวนี้แพร่ไปถึงเมืองพม่าจนมาเข้าหูกษัตริย์ของเมืองนามว่า พระเจ้าสุทโธธรรมราชา พระองค์ก็ทรงอยากจะเห็นถึงความงามของพระนางผิวสามสีสักครั้ง
จึงได้ทรงปลอมแปลงกายเป็นพ่อค้าต่างแดนเดินทางนำสินค้าจากเมืองละโว้มาขายที่เมืองฝาง และได้เข้าทูลถวายผ้าเนื้อดีแก่ขัตติยะนารีฝาง เพื่อหวังจะได้ยลโฉมพระนาง สามผิวว่าจะงดงามดังคำเล่าลือหรือไม่ เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชาได้เห็นพระพักตร์ของพระนางผิวสามสีเท่านั้น ก็หลงรักพระนางตั้งแต่แรกเห็นเมื่อเสด็จกลับยังที่ประทับพระองค์ทรงคร่ำครวญนึกถึงแต่พระนาง จนอยากได้พระนางมาเป็นมเหสีของตน ครั้นจะมาสู่ขอพระนางก็มีพระสวามีแล้ว จึงคิดหาวิธีที่จะช่วงชิงเอาพระนางมาเป็นมเหสีคู่ใจของตนให้ได้ จึงได้คิดที่จะทำสงครามเพื่อที่จะแย่งชิงพระนางผิวสามสี ดังนั้นพระเจ้าสุทโธธรรมราชากษัตริย์พม่าจึงเสด็จกลับกรุงอังวะ เพื่อจัดเตรียมกองทัพและไพร่พลเป็นเวลานานถึง 3 ปี จนในที่สุดกองทัพพม่าปิดล้อมเมืองฝางไว้ไม่ให้ชาวบ้านเมืองได้ออกไปทำมาหากิน
เมื่อชาวเมืองฝางตกอยู่ในวงล้อมของพม่า ทำให้ชาวเมืองอดอยากกับเหตุการณ์นี้ เจ้าเมืองฝางกับพระนาง สามผิวได้ตระหนักถึงสาเหตุทั้งหมดว่ามาจากทั้งสองพระองค์ เมื่อเห็นแก่ชีวิตของประชาชนของแผ่นดิน อีกทั้งยังคิดที่จะยุติปัญหานี้ ทั้งสองพระองค์จึงตัดสินพระทัยแก้ปัญหาด้วยการชวนกันไปกระโดดลง “บ่อน้ำชาววา” บ่อน้ำแห่งนี้มีความลึก 20 วา ปลงพระชนม์ตนเองเพื่อรักษาชีวิตชาวเมืองไว้ เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชายกกองทัพทหารพม่าเข้าเมืองฝางได้ แต่กลับทราบว่าทั้งเจ้าเมืองฝางและพระนาง สามผิวกระโดดลงบ่อน้ำจนสิ้นพระชนม์แล้ว กษัตริย์พม่ามีความเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ยกทัพกลับพม่า
เมื่อศึกสงครามการแย่งชิงพระนางผิวสามสีสงบลงแล้ว ประชาชนเห็นว่าเจ้าเมืองและพระมเหสีทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อรักษาเมืองฝางและชีวิตของชาวเมืองไว้ ทุกคนจึงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ทั้งสองพระองค์ไว้ที่บ่อน้ำชาววา ซึ่งอยู่บริเวณหน้าวัดพระบาทอุดม ชาวเมืองฝางถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องบ้านเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตราบจนทุกวันนี้
วัดพระบาทอุดดม(น้ำบ่อซาวงวา)
วัดพระบาทอุดดมสร้างในสมัยพระเจ้าฝางอุดมสิน ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ร้างไปจนถึง พ.ศ. 2420 เจ้าน้อยมหาวงษ์ บุญทาวงษ์ษา ได้ทำการบูรณะเสนาสนะวัดพระบาทอุดดม(น้ำบ่อซาวงวา)ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีส่วนต่างๆมี 3 ส่วนหลัก คือ
- วัดพระบาทอุดม ประกอบด้วย วิหาร ศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาอเนกประสงค์ หอฉันพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พระเจดีย์เก่าแก่และพระพุทธบาทจำลอง ศาลาครูบากันยา ที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกธรรมและสามัญ
- สำนักวิปัสสนากรรมฐานน้ำบ่อซาววา ประกอบด้วย วิหารสถานที่ทำวัตรสวดมนต์ พระเจดีย์เก่าแก่บุรณะใหม่ มีพระเจ้าระแข่งจากพม่าเมืองมัณฑเลย์ ที่มีอายุราว 100 ปี ศาลารูปเหมือนครูบาศรีวิชัยเท่าองค์จริง อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยหล่อด้วยทองเหลือง สูง 9.59 เมตร มีกุฏิสงฆ์หลังเล็ก 20 หลัง มีกุฏิเดี่ยวแบบห้องแถว รวมมี 30 กว่าห้องสำหรับแม่ขาวหรือชีพรหม มีกุฏิหลวงพ่อเจ้าอาวาส 1 หลัง และเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาคณะสงฆ์อำเภอฝาง
- ลานอนุสาวรีย์ พระเจ้าฝาง-พระนาง สามผิว หรือสวนป่า/สวนสุขภาพ
สรุป
ตำนานพระนาง สามผิว ผิวเปลี่ยนสีได้ งามเลื่องลือจนเสียเมือง ความงามของพระนางผิวสามสีอาจจะไม่ได้เป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ แต่อาจจะเป็นพระความหลงที่เข้าครอบงำจิตใจของกษัตริย์แห่งพม่าจึงทำให้เกิดความเศร้าเสียใจนี้ หากท่านใดที่ได้อ่านตำนานการเสียสละของพระเจ้าฝางและพระนางผิวสามสีนี้แล้ว หากมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ก็อย่าลืมแวะไปสักการะบูชาอนุสาวรีย์ พระเจ้าฝาง-พระนาง สามผิวกันด้วยนะคะ
ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ ตำนาน ความเชื่อ และโชคลาภอีกมากมาย ท่านสามารถติดตามที่จากเว็บนี้